กินยา PEP อย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ให้ได้ผล

0
606

กินยา PEP อย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ให้ได้ผล

ปัจจุบันโรคเอดส์หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV ไม่ได้มีความน่ากลัวเหมือนภาพจำสมัยก่อน ผู้ป่วยโรค HIV สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้ เพียงแต่ต้องมีวิธีดูแลตัวเองเป็นพิเศษมากขึ้น แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากติดเชื้อ HIV การป้องกันก่อนได้รับเชื้อจึงสำคัญ บางครั้งแม้จะระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี ก็ยังมีโอกาสเกิดความเสี่ยงโดยที่ไม่ตั้งใจได้ นวัตกรรมยา PEP จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันผลลัพธ์จากความเสี่ยงนั้น และยังต้องกินอย่างถูกวิธีเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุดด้วย

เมื่อไรที่ควรกินยา PEP สามารถเลือกยาเองได้หรือไม่

ยา PEP เป็นยาต้านไวรัสที่มีไว้รับประทานหลังจากเกิดความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ต่างจากยา PrEP ซึ่งเป็นยาที่ต้องกินเป็นประจำก่อนได้รับความเสี่ยงติดเชื้อ การกินยา PEP ควรกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อแล้ว โดยโอกาสที่เกิดความเสี่ยงได้มีดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่พบภายหลังว่าถุงยางอนามัยแตกหรือฉีกขาด
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ได้ป้องกัน หรือไม่ได้สติขณะมีเพศสัมพันธ์
  • สงสัยหรือรู้ภายหลังว่าคู่นอนอาจมีเชื้อ HIV
  • มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็มีความเสี่ยงได้รับเชื้อเช่นกัน

การกินยา PEP ต้องกินเป็นเวลา 28 ติดต่อกัน แต่ไม่สามารถหายามากินเองตามร้านขายยาทั่วไปได้ ต้องเข้ารับการปรึกษาและประเมินความเสี่ยงโดยแพทย์ เนื่องจากแพทย์ต้องพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ว่าผู้มีความเสี่ยงสามารถรับยาได้หรือไม่ ควรได้รับยาชนิดใด พร้อมทั้งคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

กินยา PEP แล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป

เมื่อได้รับยา PEP มาแล้วควรทานยาตามที่แพทย์สั่งในเวลาเดิมทุกวัน อาจต้องกินวันละเม็ดหรือวันละสองเม็ดแล้วแต่ชนิดของยานั้น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากแม้จะกินยาจนครบกำหนด 28 วัน ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้ออยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์ป้องกันได้สูงแต่ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่เช่นกัน สิ่งที่ควรทำระหว่างกินยา PEP มีดังนี้

  1. เข้ารับการตรวจติดตามอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  2. งดยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด (ควรแจ้งแพทย์ก่อนรับยาว่าทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาอะไรอยู่หรือไม่)
  3. งดการบริจาคโลหิตจนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์
  4. งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  5. สังเกตอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์

ยา PEP ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ได้ ในขณะเดียวกันผู้มีความเสี่ยงควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ใส่ใจสุขภาพตัวเองรอบด้านทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากเกินไป เพราะความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ขอเพียงศึกษาวิธีดูแลตัวเองแล้วปฏิบัติอย่างถูกต้อง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here


The maximum upload file size: 2 GB.
You can upload: image.