การตรวจด้วย MRI : ตรวจอะไรได้บ้าง?
MRI คืออะไร? MRI ย่อมาจาก Magnetic Resonance Imaging คือ การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วยเพื่อนำมาใช้ในการรักษา และติดตามผลการรักษา อาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของไฮโดรเจนอะตอม (Hydrogen, H) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ เช่น โมเลกุลของน้ำ (H2O) เป็นต้น
วิธีการตรวจร่างกายด้วย MRI
ในการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไปขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ เช่นการตรวจระบบสมอง จะมีอุปกรณ์รับสัญญาณภาพครอบอยู่บริเวณศีรษะ กรณีตรวจกระดูกสันหลัง อุปกรณ์รับภาพจะวางอยู่ด้านหลังผู้ป่วย เป็นต้น ผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 นาที ถึงชั่วโมง ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ
MRI ตรวจอะไรได้บ้าง?
1.ศีรษะ : หาความผิดปกติของสมองและเส้นประสาทในสมอง
2.หน้าอก : หาความผิดปกติของบริเวณเต้านมและหัวใจ
3.หน้าท้อง และกระดูกเชิงกราน : หาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง มดลูก และรังไข่ในเพศหญิง ต่อมลูกหมากในเพศชาย
4.กระดูก และข้อต่อ : หาความผิดปกติของกระดูก เส้นประสาทไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง
5.เส้นเลือด : ตรวจดูเส้นเลือดและการไหลเวียนของเลือด
ข้อควรระวังในการใช้บริการ MRI
1.หากเป็นคนที่กลัวการอยู่ในพื้นที่แคบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
2.ควรหลีกเลี่ยงการตรวจ MRI หากมีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง (แบบเก่า) หรือมีเพลทโลหะในร่างกาย เช่น คนที่ได้รับการเปลี่ยนข้อต่อ หรือมีลิ้นหัวใจเทียม
3.ถอดเครื่องประดับและของใช้ส่วนตัวออกจากร่างกายให้หมด รวมถึงลบเครื่องสำอางที่อาจมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อายชาโดว์ หรือมาสคาร่าออกด้วย เพราะมีผลต่อการตรวจ ที่อาจทำปฏิกิริยาทำให้ภาพตรวจออกมาไม่ชัดเจน.
ประโยชน์ของ MRI
คือการตรวจโรคแบบไม่ใช้รังสีเหมือนกับเอ็กซ์เรย์ และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการรักษาและดูแลสุขภาพของเราอย่างเห็นผลอย่างชัดเจนเช่นกัน ทำให้เรามั่นใจได้ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เราเจอในชีวิตประจำวันของเราอย่างแท้จริงว่ามีความแม่นยำสูงและปลอดภัยต่อสุขภาพของเราที่สุด